โอมิคุจิ(おみくじ) เสี่ยงเซียมซีที่ญี่ปุ่น
エル
เวลาไปเที่ยวศาลเจ้าของญี่ปุ่น เสี่ยงเซียมซีก็จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบเขย่ากล่องไม้ที่มีแท่งเหล็กเขียนหมายเลขผุดออกมา หรือเอื้อมมือลงไปสุ่มกระดาษเซียมซีจากถาด ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็อดที่จะตื่นเต้นกับผลดวงไม่ได้เลยค่ะ วันนี้แอดมินจะมาสอนดูเซียมซีของญี่ปุ่นให้ถูกต้อง ว่าควรมีลำดับขั้นตอนยังไง ดูตรงไหน และควรทำยังไงกับแผ่นเซียมซีกันแน่ค่ะ

ก่อนอื่นมาดูที่มาของเซียมซีญี่ปุ่นกันนะคะ
โอมิคุจิ หรือเซียมซีของญี่ปุ่นนั้น เมื่อเขียนเป็นคันจิจะเขียนว่า「御神籤(omikuji)」ในกรณีของศาลเจ้า หรือ「御仏籤(omikuji)」 ซึ่งเป็นการรวมกันของคันจิ 籤(kuji) ที่แปลว่าหวย กับ 神 (kami) ที่แปลว่า พระเจ้า หรือ 仏(hotoke) ที่แปลว่า พระพุทธเจ้า เข้าด้วยกันนั่นเอง

แม้ตามปกติหวยจะเป็นเรื่องของโอกาสความน่าจะเป็น แต่โดยความเชื่อของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณจะเชื่อว่าพระเจ้าจะเข้ามากำหนดผลของการเสี่ยงทายอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จึงถูกมองเป็นตัวกลางสำหรับปรึกษากับพระเจ้าเมื่อมีเรื่องลำบากใจนั่นเอง

# วิธีการจับเซียมซีที่ถูกต้อง #

เนื่องจากการเสี่ยงเซียมซีถือเป็นโอกาสที่สำคัญในการพูดคุยกับพระเจ้า จึงไม่ควรแค่เปิดดูผลแล้วทิ้ง แต่แนะนำให้ลองทำตามลำดับดังต่อไปนี้แทน

① เยี่ยมชมสักการะศาลเจ้าและวัดวาอาราม
เมื่อเข้าวัดให้ล้างมือและปากที่บริเวณอ่างล้างมือ (手水舎 : chouzusha) แล้วไปสักการะพระเจ้าโดยโยนเงินเข้าที่กล่องไม้ก่อนที่จะกล่าวชื่อและที่อยู่เพื่อแนะนำตัวก่อนอธิษฐานและขอบคุณให้เรียบร้อย

② เสี่ยงเซียมซี
ในหลายๆวัดหรือศาลเจ้าจะมีเซียมซีหลายประเภทให้หยิบ โดยให้เลือกจับอันที่รู้สึกอยากจับที่สุด หากมีหัวข้อที่อยากรู้ชัดเจน เช่นความรัก ก็แนะนำให้เลือกจับ เซียมซีความรัก ที่ตรงหัวข้อชัดเจน
ตอนเสี่ยงดวงให้คิดย้ำๆเรื่องที่ต้องการรู้ซ้ำๆ แต่ถ้าไม่ได้มีเรื่องเศร้าใจหรือเรื่องที่อยากรู้เป็นพิเศษให้ขอว่า
「今の私にお言葉をください(ima no watashi ni okotoba o kudasai) : ขอคำแนะนำให้กับฉันในตอนนี้」จะทำให้ได้คำแนะนำโดยทั่วๆไปแทน

③ ดูผลเซียมซี
เมื่อดูถึงความน่าจะเป็นของเซียมซีญี่ปุ่น โดยเฉลี่ยแล้วเซียมซีของญี่ปุ่นจะมีลำดับโชคจากดีไปไม่ดี 6 อันดับด้วยกัน โดยมีโอกาสออกเฉลี่ยดังนี้

โชคดีมาก「大吉(daikichi)」:23%
โชคดีบานปลาย「中吉(chuukichi)」:10%
โชคดีน้อย「小吉(shoukichi)」:13%
มีโชค「吉(kichi)」:24%
มีโชคในอนาคต「末吉(suekichi)」:19%
โชคร้าย「凶(kyou)」:11%

อย่างไรก็ตามสัดส่วนของแต่ละที่ยังแตกต่างกัน และในบางศาลเจ้าก็ยังมีลำดับโชคอื่นๆ เช่น 「โชคดีมากๆ大大吉(daidaikichi)」หรือแม้แต่「โชคร้ายมากๆ 大凶(daikyou) 」



④ อ่านรายละเอียดของคำทำนาย
อันนี้อาจจะต้องใช้ความสามารถภาษาญี่ปุ่นซักเล็กน้อย นอกจากการระบุผลโดยคร่าวๆแล้ว ในแผ่นโอมิกุจิยังมีแบ่งหัวข้อตามความสนใจของผู้มาอธิษฐานอีกด้วย โดยในแต่ละพาร์ทจะเขียนคำให้กำลังใจ ข้อแนะนำ หรือข้อควรระวังในช่วงนี้ไว้ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นหัวข้อดังนี้

【恋愛(ren-ai)】ความรัก
【待ち人(machibito)】 คนที่จะนำพาไปสู่เส้นทางที่ดีหรือเข้ามาเปลี่ยนชีวิต เช่น มิตร หรือ ครูบาอาจารย์
【縁談(endan)】ความสัมพันธ์ มักจะเกี่ยวกับการแต่งงาน หรือคู่แต่งงาน
【出産(shussan)】การคลอดบุตร โดยมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับทั้งช่วงระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอดบุตร
【学問(gakumon)】การเรียน
【健康(kenkou)・病気(byou-ki)】สุขภาพและการเจ็บป่วย
【旅行(ryokou)・旅立ち(tabidachi)】การเดินทาง ทั้งท่องเที่ยวและเดินทางทั่วๆไป
【商い(akinai)・商売(shoubai)】การค้าขาย
【相場(souba)】ราคาขาย โดยมักจะเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ราคาไม่คงที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหุ้นหรือการแลกเปลี่ยนเงินตรา

⑤ หลังได้ผลทำนาย
หลังอ่านผลทำนายเรียบร้อยแล้ว สามารถผูกคำทำนายไว้ที่กิ่งไม้ หรือหลายๆคนก็จะนิยมพกกลับบ้าน เพื่อจะได้กลับมาย้อนอ่านและเปรียบเทียบคำทำนายย้อนทีหลังได้

ไม่ว่าผลของดวงจะออกมาดีหรือร้ายอย่างไร ที่ญี่ปุ่นมีสำนวนว่า 「吉凶悔吝(kikkyoukairin)」ที่สื่อความหมายว่าโชคที่ดีกับโชคที่ไม่ดีเชื่อมโยงสู่กันและกัน นั่นคือ ถ้าโชคออกมาดีแล้วหลงระเริงก็จะโชคร้ายไ้ด้ ในทางตรงกันข้ามหากได้โชคไม่ดีแล้วกลับมาระวังตัวก็จะโชคดีได้ เราจึงควรใช้คำทำนายที่ได้มาเป็นคำแนะนำในการดำเนินชีวิตมากกว่าที่จะยึดติดและทำให้มันมีผลกับเรามากเกินไปค่ะ
  • 1 WoW